ความผิดพลาดของ จีที 200 ใครจะรับผิดชอบ
Category: News
เรื่อง : อังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
ภาพ : จรูญ ทองนวล
2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้คนในจังหวัดชายแนนภาคใต้พูดถึงเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบวัตถุระเบิด จีที 200 มากขึ้น คงจำกันได้ว่าในครั้งแรกๆ ที่มีการนำเครื่องมือชนิดนี้มาใช้งาน น่าจะเป็นเมื่อประมาณปี 2549 -2550 ใน “ยุทธการพิทักษ์แดนใต้” ซึ่งมีการนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ประกอบในการปิดล้อมตรวจค้นตามหมู่บ้าน ต่างๆ โดยเมื่อเครื่องตรวจเจอสารซึ่งเป็นส่วนประกอบของวัตถุระเบิด เครื่องจะชี้ปลายเสาอากาศไปยังตำแหน่งที่มีสารดังกล่าวอยู่
ในการปิดล้อมตรวจค้นช่วงเวลานั้น มีการควบคุมตัวประชาชนจำนวนมาก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อพบว่าเครื่องมือชนิดนี้มีปฏิกิริยาต่อบุคคลรวมถึงวัตถุ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ประชาชนใช้ในชีวิตประจำวันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
มีรายงานจากบริษัทผู้ผลิตเครื่อง จีที 200 บริษัทหนึ่งว่า เครื่องนี้จะมีปฏิกิริยาต่อ “สารยูเรีย” ซึ่งเป็นสารตั้งต้นชนิดหนึ่งที่ใช้ในการประกอบวัตถุระเบิด และเป็นสารชนิดเดียวกันกับที่เป็นส่วนประกอบของ “ปุ๋ยเคมี” ซึ่งนิยมอย่างใช้กันอย่างแพร่หลายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรม
ท่ามกลางการตั้งคำถามและคำวิพากษ์วิจารณ์ถึงความแม่นยำจากบรรดานักสิทธิ มนุษยชนและราษฎรจำนวนมากในพื้นที่ โดยมีรายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่า เครื่องมือชนิดนี้ได้ชี้การปนเปื้อนสารประกอบวัตถุระเบิดแม้ในคนพิการ หญิงตั้งครรภ์ หรือแม้แต่เด็ก
มีรายงานว่าในการตรวจค้นครั้งหนึ่งเครื่องชี้ไปยังกล่องกระดาษกล่องหนึ่ง ทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงมั่นใจว่าภายในกล่องนั้นน่าจะต้องมี วัตถุหรือสารที่เกี่ยวข้องกับระเบิด แต่เมื่อเปิดดูภายในกลับพบว่าเป็นเพียงกล่องที่บรรจุผ้าอนามัยที่นำมาขายใน หมู่บ้าน
ไม่ต่างจากอีกกรณีในการปิดล้อมตรวจค้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ในบริเวณบ้านของผู้หญิงคนหนึ่ง เครื่องได้มีปฏิกิริยาที่บริเวณปลายยอดของต้นมะพร้าวต้นหนึ่ง ทำให้เจ้าหน้าที่มั่นใจว่าจะต้องมีคนนำวัตถุหรือสารประกอบวัตถุระเบิดไปซุก ซ่อนเอาไว้ แต่เมื่อได้ปีนขึ้นไปดู พบถุงพลาสติกเก่าๆ ใบหนึ่ง เมื่อเปิดออกดูภายในกลับพบว่าเป็นเพียงถุงใส่น้ำมันมะพร้าวที่คาดว่าหนูคงจะ คาบขึ้นไปทิ้งไว้บนยอดมะพร้าว
หรือกรณีงานบุญที่วัดแห่งหนึ่งใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในขณะที่ผู้คนมาช่วยกันทำอาหาร เจ้าหน้าที่ทหารชุดปฏิบัติการ หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 ที่มาดูแลความปลอดภัยภายในวัด ได้ใช้เครื่อง จีที 200 ตรวจสอบรอบๆ บริเวณโรงครัวภายในวัด เครื่องดังกล่าวได้ชี้ไปที่หม้อใส่แกงหม้อหนึ่ง ทำให้เป็นที่สงสัยของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เป็นอย่างยิ่ง
ในขณะที่คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความคลางแคลงใจต่อประสิทธิภาพของ เครื่องมือชิ้นนี้ หน่วยงานความั่นคงกลับมีความมั่นใจในการใช้งานมากขึ้น มีการสั่งซื้อเครื่องมือดังกล่าวเพิ่มขึ้น
ในคำเบิกความเป็นพยานในคดีที่ญาติของผู้ถูกนำตัวมาควบคุมตัวภายใต้โครงการ อบรมการฝึกอาชีพ 4 เดือนโดยไม่สมัครใจที่ค่ายทหารใน จ.ระนอง ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2550 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีการไต่สวนว่าการอบรมครั้งนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีนายทหารระดับสูงจาก กอ.รมน.ภาค 4 ท่านหนึ่งให้การต่อศาลว่า บุคคลที่ถูกนำตัวมาควบคุมภายใต้โครงการฝึกอาชีพดังกล่าว ต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับการประกอบวัตถุระเบิด เนื่องจากเครื่องตรวจจับ (จีที 200) มีปฏิกิริยาต่อพวกเขา
รวมถึงกรณีของ นายยะผา กาเซ็ง อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ที่ถูกทรมานจนเสียชีวิตภายหลังถูกเจ้าหน้าควบคุมตัวจากการปิดล้อมตรวจค้นใน หมู่บ้านของเขา ก็พบเช่นกันว่าเครื่องมือชนิดนี้แสดงปฏิกิริยาต่อบริเวณบ้านและมัสยิดที่นาย ยะผาเป็นอิหม่ามอยู่
แม้หน่วยงานความมั่นคงจะพยายามชี้แจงว่า เครื่องมือชนิดนี้เป็นเพียงเครื่องมือเบื้องต้นที่ใช้ในการตรวจสอบ แต่ในทางปฏิบัติกลับดูเสมือนว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติซึ่งใช้เครื่องมือชนิด นี้ได้พิพากษาตัดสินไปแล้วว่า ผู้ซึ่งถูกเครื่องมือนี้ชี้คือ “ผู้กระทำผิด”
คงจำกันได้ถึงความผิดพลาดจากการใช้เครื่อง จีที 200 เมื่อไม่นานมานี้ กรณีคนร้ายไม่ทราบกลุ่มและจำนวนใช้อาวุธปืนสงครามอาก้า และเอ็ม 16 กราดยิง นายโกศล เกษมสุข อายุ 48 ปี และนางผ่องศรี เกษมสุข อายุ 45 ปี ซึ่งออกจากบ้านในพื้นที่หมู่ 9 บ้านปลักใหญ่ ต.ปากล่อ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เพื่อเดินทางไปกรีดยางห่างจากบ้านประมาณ 3 กิโลเมตรจนเสียชีวิต ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจที่เกิดเหตุ ได้ทำการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ด้วยเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด จีที 200 เครื่องตรวจสอบดังกล่าว ตรวจไม่พบวัตถุระเบิดในที่เกิดเหตุ รวมทั้งในร่างของผู้ตายทั้งสอง เจ้าหน้าที่จึงเข้าไปเพื่อยกร่างของผู้ตาย แต่แล้วก็เกิดระเบิดขึ้น ทำให้ผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้รับบาดเจ็บ
เหตุระเบิด “คาร์บอมบ์” กลางเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อบ่ายวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา จึงทำให้เครื่องมือชนิดนี้ถูกตั้งคำถามอีกครั้งจากผู้คนในจังหวัดชายแดนภาค ใต้ รวมถึงสังคมไทยทั้งประเทศ ถึงประสิทธิภาพและความแม่นยำในการทำงาน เพราะก่อนเกิดระเบิดได้มีประชาชนแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจสอบรถต้อง สงสัยคันที่เกิดระเบิดโดยใช้เครื่องมือชนิดนี้แล้ว แต่กลับไม่พบความผิดปกติใดๆ กระทั่งเกิดการสูญเสียดังกล่าว
และแม้หน่วยงานความมั่นคงจะยืนยันตรงกันว่า ความผิดพลาดไม่ได้เกิดจากตัวเครื่อง ซึ่งมีนัยที่สื่อถึงการใช้งบประมาณของกองทัพในการจัดซื้อเครื่องมือชนิดนี้ ว่าไม่มีความบกพร่อง หากแต่ทำให้เกิดคำถามกลับไปยังผู้เกี่ยวข้องว่า แล้วความผิดพลาดเกิดจากอะไรกันแน่ ที่สำคัญใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความผิดพลาดดังกล่าว โดยเฉพาะที่ผ่านมาการใช้เครื่องมือชนิดนี้ได้ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษย ชนหลายต่อหลายครั้ง และทุกครั้งก็ไม่เคยมีคำตอบจากหน่วยงานความมั่นคงถึงความรับผิดชอบใดๆ
ในขณะที่เจ้าหน้าที่มองว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่หน่วยงานความมั่นคงน่าจะเกิดความตระหนักมากขึ้นว่า ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้เครืองมือชนิดนี้ได้สร้างความไม่ไว้วางใจของราษฎรต่อ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ทั้งงานตรวจค้นและงานการข่าวต่างๆ ที่สำคัญที่สุดคือเครื่อง จีที 200 ได้ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในการหาค้นพยานหลักฐาน ซึ่งหากปราศจากความถูกต้องแม่นยำและความน่าเชื่อถือเสียแล้ว คงเป็นการยากที่จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นที่มี เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปเกี่ยวข้อง…
ในยุคสมัยที่การเมืองไม่สามารถนำการทหารได้จริง!
ที่มา: http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4910&Itemid=86