สถานการณ์อุ้มหายกับภารกิจการปฏิรูปตำรวจไทย
Category: News
ประทับจิต นีละไพจิตร
คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
ณ วันนี้คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระแสข่าวการคัดสรรผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติร้อนแรงแซงหน้าอีกหลายข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน เพราะแม้แต่การสรรหาหัวเรือใหญ่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อมาทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขชาวบ้านยังมิวายกลายเป็นเรื่องขั้วอำนาจการเมืองระดับชาติไปเสียสิ้น ส่งผลให้หลายสัปดาห์ที่ผ่านมากระแสการถกเถียงเรื่องตำแหน่งผบ.ตร.ร้อนผ่าวและบีบคั้นใจคนกรุงยิ่งนักเพราะต่างวิตกกังวลว่าผบ.ตร.คนใหม่จะแก้ไขหรือนิ่งเฉยในการควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของฝ่ายเสื้อแดงระลอกใหม่ น้อยคนนักที่จะทวงถามการปฏิรูปตำรวจในเชิง “เนื้อหาสาระ” ของการพัฒนาระบบตำรวจทั้งระบบ ทั้งที่มีการพูดถึงกันตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ในช่วงที่ขึ้นมาคุมบังเหียนรัฐบาลหลังรัฐประหารรัฐบาลเก่าที่เขาว่าเป็นระบอบตำรวจ แต่จนแล้วจนรอด รัฐประหารก็ดูจะเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเสียเลยสำหรับการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าภารกิจปฏิรูประบบตำรวจเป็นเรื่องที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่อยากแตะ จนเมื่อได้ยินข่าวแว่วๆว่าป.ป.ช.เดินหน้างานวิจัยเพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาในระบบตำรวจไทยก็พอจะใจชื้นมาบ้าง และเพื่อมิให้กระแสการปฏิรูปเนื้อหาสาระของระบบตำรวจไทยแผ่วไปเสียก่อน ผู้เขียนจึงขอยกปัญหาที่กระทบเนื้อหาสาระของระบบตำรวจและกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างยิ่งคือ ปัญหาการบังคับให้บุคคลสูญหาย (Enforced Disappearances) ของไทยมาร่วมถกประเด็นสาระของภารกิจปฏิรูป ในวาระวันคนหายสากลแห่งสหประชาชาติปีนี้ (วันที่ 30-31 สิงหาคมของทุกปี)
สหประชาชาติยกให้ปัญหาการบังคับบุคคลสูญหายหรือที่คนไทยหลายคนมักเรียกกันว่าการอุ้มหายเป็น “อาชญากรรมร้ายแรง” ชนิดหนึ่งของโลกด้วยเหตุที่เป็นวิธีการที่ทำลายสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหลายประการ อีกทั้งยังพรากผู้คนจากครอบครัวทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในทวีปยุโรป และอเมริกา แต่พื้นที่ที่ปัญหาการอุ้มหายรุนแรง เรื้อรังมากที่สุดก็คือแถบลาตินอเมริกา รองลงมาคือทวีปเอเชียของเรานั่นเอง กระทั่งสหประชาชาติได้ตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นเพื่อดูแลปัญหาดังกล่าวทั่วโลก ( UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance – UN WGEID) และที่น่าสนใจก็คือปัญหาการอุ้มหายหรือที่เรียกว่าบังคับให้สูญหายที่ว่านี้มิได้มีสาเหตุจากการหายโดยทั่วไปแต่จำเพาะไปที่การบังคับสูญหายที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดบุคคลที่มีความคิดเห็นขัดแย้งหรือเป็นปฏิปักษ์กับรัฐ ซึ่งโดยมากมาจากเหตุผลด้านการเมืองเป็นหลัก สำหรับประเทศไทยปัญหาอาชญากรรมการบังคับบุคคลสูญหายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แต่ก็เป็นที่น่าสนใจที่เรายังไม่สามารถระบุจำนวนผู้สูญหายหรือแม้แต่ประมาณการณ์ที่เป็นทางการได้เลย เนื่องจากกระทั่งในปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานของรัฐแม้แต่หน่วยงานเดียวที่ทำหน้าที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูญหายอย่างจริงจัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกรณีที่ได้รับการร้องเรียนนั้นเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง อย่างไรก็ตามจากการรวบรวมข้อมูลเฉพาะที่มีผู้ร้องเรียนต่อคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพทำให้ประมาณได้ว่าเฉพาะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 จนกระทั่งปัจจุบันมีจำนวนบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายไปแล้วกว่า 90 ราย ทั้งนี้หากจะแบ่งยุคสมัยที่ชัดเจนเรื่องการอุ้มหายในไทย อาจแบ่งได้ 4 ยุคสมัยด้วยกันคือ (1)ยุคปราบปรามคอมมิวนิสต์คือเหตุการณ์ก่อนพ.ศ.2514 จนถึงปี 2516 (2)ช่วงเหตุการณ์ทั้งก่อนและช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (3)ช่วงการประกาศสงครามยาเสพติด พ.ศ. 2545-2549 (4)ช่วงการปราบปรามกลุ่มก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงตั้งแต่ปี 2545 -ปัจจุบัน และนอกจากนี้การบังคับบุคคลสูญหายในปัจจุบันยังเกิดจากความไม่พอใจเกี่ยวกับการร้องเรียนคดีทุจริตที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องถิ่นมีส่วนเกี่ยวข้องดังในกรณีของนายกมล เหล่าโสภาพันธ์ซึ่งหายไปขณะเข้าไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงที่สถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และเป็นความอัปยศอย่างยิ่งสำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระบวนการยุติธรรมไทยที่คดีอันถือว่ามีความ “คืบ”หน้ามากที่สุดของไทยคือกรณีการบังคับให้ทนายสมชาย นีละไพจิตรที่กูกอุ้มหายกลางกรุง ที่กระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่ปรากฏว่าใครบ้างที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบอาชญากรรมร้ายแรงครั้งนี้! ส่วนกรณีอื่นๆ ไม่พบว่ามีความคืบหน้าทางคดีแต่อย่างใด กรณีที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยเช่นการอุ้มหายชาวมลายูมุสลิมจำนวนยี่สิบกว่ารายก็จบลงที่การให้ความ “ช่วยเหลือทางการเงิน” เพียงไม่กี่บาทและเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง ซ้ำร้ายในกรณีการอุ้มหายชาวลาหู่ที่มีถิ่นพำนักทางภาคเหนือของไทยในช่วงสงครามยาเสพติดก็พบว่ายังไม่มีทั้งความคืบหน้าทางคดี หรือความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาล นอกจากนี้กรณีดังกล่าวยังไม่เป็นที่รับรู้ของพี่น้องร่วมชาติด้วยซ้ำไป
ที่ผ่านมา หน่วยงานตำรวจทั้งระดับชาติและภูธรต่างถูกร้องเรียนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการสูญหายหลายกรณี ทั้งที่ถูกร้องเรียนว่าเป็นผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติการอุ้มเสียเองเนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องได้เสียเรื่องผลประโยชน์ในท้องถิ่นและการเมือง นอกจากนี้ ในกรณีที่มีมูลว่าอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหาย อุปสรรคของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของญาติผู้สูญหายก็จะยากยิ่งขึ้นด้วย ที่ผ่านมาบรรดาญาติต่างต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายประการตั้งแต่ขั้นตอนต้นๆ ของกระบวนการยุติธรรม เช่น การสูญหายอย่างมีเงื่อนงำของหลักฐาน การทำงานอย่างล่าช้าปล่อยให้ระยะเวลาผ่านไป หรือแม้แต่ต้องเผชิญกับวัฒนธรรมองค์กรแบบไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน เหล่านี้แม้ว่าจะเกิดขึ้นในขั้นตอนการสอบสวนแต่การหายไปของหลักฐานแม้สักชิ้น การปล่อยเวลาให้ล่วงเลยโดยไม่ติดตามคดี และการอ้างว่าขาดพยานหลักฐาน หรือพยานหลักฐานไม่เพียงพอต่อการเอาผิดอาจหมายถึงการสิ้นสุดคดี ส่งผลให้ผู้เสียหายไม่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้ ในหลายรายก็ต้องทนมีชีวิตอยู่กับการถูกข่มขู่คุกคาม และไม่มีปลอดภัยในชีวิต ส่วนผู้กระทำความผิดก็ยังสามารถลอยนวลได้ต่อไป
ความซับซ้อนของปัญหาการบังคับบุคคลสูญหายยังมีอีกหลายประการโดยเฉพาะเมื่อไม่สามารถค้นหาร่างของผู้สูญหายได้ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งก็คือการที่กฎหมายไทยยังไม่รองรับการบังคับบุคคลสูญหาย ทำให้ผู้กระทำความผิดสามารถอาศัยช่องว่างทางกฎหมายเพื่อเอาตัวรอดลอยนวลและเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่รัฐบางรายใช้กล่าวอ้างอยู่เสมอว่า “หากไม่พบศพบุคคลที่ถูกบังคับสูญหาย ก็ไม่สามารถดำเนินการสืบหาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้” ผู้เขียนจึงขอใช้โอกาสนี้แทนญาติและบรรดาผู้สูญหายทั้งหมดในการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยลงนามให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายของสหประชาชาติ พ.ศ. 2549 อันมีผลให้กฎหมายไทยต้องรองรับกรณีการทำให้บุคคลสูญหายไว้ในการติดตามและดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมโดยปราศจากข้อจำกัดเรื่องการมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของร่างบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายเหล่านั้นตามที่ตัวแทนเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งจากกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศต่างให้คำมั่นว่าจะพิจารณาให้สัตยาบันในอนุสัญญาฉบับดังกล่าวต่อหน้าเจ้าหน้าที่การทูตนานาประเทศในการประชุมสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และทั้งนี้เพื่อให้กรณีการบังคับบุคคลสูญหายสามารถสร้างบรรทัดฐานความรับผิด (Accountability)ของเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับแทนที่วัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวล!