แถลงการณ์: ขอให้อัยการสูงสุดทบทวนคำสั่งไม่ฟ้อง คืนความยุติธรรมให้ประชาชน

เหตุการณ์การเสียชีวิตของประชาชน ๓๒ คนที่มัสยิด กรือเซะ ยังคงไม่ได้รับคำตอบถึงผู้ที่จะต้องรับผิดชอบ แม้จะผ่านมาแล้วถึง ๕ ปี ทั้งที่รัฐบาลในสมัยนั้นได้ตั้งคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมัสยิดกรือเซะ ขึ้น โดยมี นายนายสุจินดา ยงสุนทร อดีตเอกอัครราชทูตและอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานกรรมการ โดยคณะกรรมการอิสระฯเสียงข้างมากมีความเห็นในข้อ 5.1.1.1 ว่า

แม้ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะอ้างว่าจำเป็นต้องใช้อาวุธเพื่อปกป้องชีวิตตนเองและประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่เมื่อคำนึงถึงที่ตั้งของมัสยิดกรือเซะซึ่งตั้งอยู่อย่างเป็นเอกเทศ ไม่ได้อยู่กลางแหล่งชุมชนและจำนวนประชาชนก็ไม่ได้มีจำนวนมากตามที่มีการกล่าวอ้าง การใช้วิธีปิดล้อมและตรึงกำลังไว้รอบมัสยิดควบคู่ไปกับการเจรจาและเกลี้ยกล่อมโดยสันติวิธี อาจทำให้ผู้ก่อความไม่สงบยอมจำนนได้ในที่สุด อันจะช่วยให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลเรื่องวัตถุประสงค์ของการดำเนินการครั้งนี้รวมทั้งผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การประเมินสถานการณ์และป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การยุติเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะด้วยสันติวิธีจึงมีความเหมาะสมกว่าที่จะใช้วิธีรุนแรงและอาวุธหนักเพื่อยุติเหตุการณ์


ต่อมาคณะทำงายุติธรรมเพื่อสันติภาพ ได้มีหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ ยพส- กรุงเทพฯ พิเศษ 25/05/2550 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 เพื่อขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการตามคำสั่งของศาลจังหวัดปัตตานีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีหนังสือ ที่ 0023.1/1425 ลงวันที่10 กุมภาพันธ์ 2552 ถึง นางอังคณา นีละไพจิตร ว่าสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้อง กรณีดังกล่าว โดยไม่แจ้งเหตุผลแต่อย่างใด

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๒๕๕ วรรค สองได้บัญญัติว่า พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้องค์กรอัยการถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง และให้สามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้อย่างมีศักดิ์ศรี การที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิตที่มัสยิดกรือเซะ โดยไม่แจ้งเหตุผลต่อสาธารณะ จึงเป็นความล้มเหลวขององค์กรอัยการในการที่จะทำหน้าที่โดยอิสระ ปราศจากการแทรกแซง และยึดมั่นในความยุติธรรม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าว

แม้รัฐบาลจะพยายามสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่า คนไทยทุกคนจะเสมอภาคกันทางกฎหมาย และศาลที่เป็นอิสระ แต่การตัดตอนการนำคดีขึ้นสู่ศาล โดยไม่แจ้งเหตุ ถือเป็นการขัดขวางการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนลงอย่างสิ้นเชิง และอาจส่งผลให้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มมากขึ้น คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ จึงมีข้อเรียกร้องต่อสำนักงานอัยการสูงสุด และรัฐบาล เพื่อให้ชี้แจงถึงเหตุผลของคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าวต่อสารธณชน เพื่อประโยชน์ของความยุติธรรม เพราะความยุติธรรม เป็นพื้นฐานของการสร้างความไว้วางใจ และเป็นหนทางเดียวที่นำสู่สันติภาพี่ยั่งยืน

……………………………………….

ติดต่อ อังคณา นีละไพจิตร ๐๘๔ ๗๒๘ ๐๓๕๐, พุทธนี กางกั้น ๐๘๖ ๓๓๒ ๑๒๔๙