ขอให้ยุติการคุกคาม และเคารพการทำงานของนักสิทธิมนุษยชน
Category: News
จากการที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552 ได้ลงข่าวมีเนื้อหาอ้างถึงการที่ กอ.รมน. ภาค 4 รายงานว่าขณะนี้มีนักสิทธิมนุษยชนและนักศึกษาได้ทำงานลงพื้นที่เก็บข้อมูลกับชาวบ้านโดยตรง และยังได้เตือนว่าอาจมีผู้ก่อความไม่สงบปลอมตัวเป็นนักสิทธิมนุษยชน เพื่อยุยงและบิดเบือนข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐ (อ่านข่าวประกอบแนบท้าย) และคณะทำงานฯ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 5 / 2552 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552 ไปแล้วนั้น
เช้าวันนี้ เวลาประมาณ 05.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่สนธิกำลังตำรวจ ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจ ปัตตานีประมาณ 20 นาย นำโดย พันโทประเวศ สุทธิประภา ได้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก นำกำลังเข้าตรวจค้นสำนักงานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ตั้งอยู่ที่ 22/186 ถ.หนองจิก ต.รูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบเอกสาร และข้อมูลในคอมพิวเตอร์ โดยมีอาสาสมัครคณะทำงานฯ อำนวยความสะดวกในการตรวจค้น จนกระทั่งเวลาประมาณ 8.00 น. เจ้าหน้าที่จึงได้กลับออกไป ทราบว่าในการตรวจค้นครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายด้วยดี
อย่างไรก็ตาม คณะทำงานฯ มีความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในลักษณะเช่นนี้อาจก่อให้เกิดความเข้าใจในหมู่คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและประชาชนทั่วไปว่า เป็นการคุกคามการทำงานของนักสิทธิมนุษยชน และการที่ กอ รมน ภาค 4 อ้างว่าอาจมีผู้ก่อความไม่สงบปลอมตัวเป็นนักสิทธิมนุษยชนนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่อาจส่งผลต่อการลดทอนความน่าเชื่อถือในการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ให้ความไว้วางใจในการทำงานของนักสิทธิมนุษยชน และเห็นว่าเป็นช่องทางที่สำคัญช่องทางหนึ่งในการรับฟังปัญหาของชาวบ้าน อันเป็นการช่วยลดช่องว่างของความไม่วางใจระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเช้าวันนี้จึงมีนัยยะสำคัญต่อการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและความพยายามสร้างสันติภาพจากทุกฝ่าย คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยเฉพาะท่านผู้บัญชาการทหารบก และท่านแม่ทัพภาคที่ 4 ดังนี้
1. ขอให้ยุติการกระทำใดที่อาจเป็นการคุกคามการทำงานของนักสิทธิมนุษยชน และขอให้เข้าใจและให้ความเคารพต่อบทบาทงานด้านสิทธิมนุษยชน ที่มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิ โดยไม่เลือกปฏิบัติ
2. หน่วยงานการข่าวของรัฐ โดยเฉพาะ กอ รมน ภาค 4 ควรมีความแม่นยำ และมีความน่าเชื่อถือ เพื่อมิให้เชื่อได้ว่าเป็นการการกลั่นแกล้ง และการใส่ร้ายป้ายสีองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ และยึดความถูกต้องชอบธรรมเป็นหลัก
3. หากพบว่ามีผู้ก่อความไม่สงบปลอมตัวเป็นนักสิทธิมนุษยชนดังเช่นคำกล่าวของ กอ รมน ภาค 4 คณะทำงานฯ ขอให้เจ้าหน้าที่ทำการสืบหาตัวผู้ก่อความไม่สงบที่ปลอมตัวเป็นนักสิทธิมนุษยชน มาดำเนินคดีและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว
4. รัฐบาล และ หน่วยงานความมั่นคง ต้องปฏิบัติตามกติกาสากลระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่อย่างเคร่งครัด ดังที่รับรองไว้ใน มาตรา 82 วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
ด้วยความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนนั้นไม่มีพรมแดน การคุกคามนักสิทธิมนุษยชนในที่ใดที่หนึ่งย่อมหมายถึงการคุกคามนักสิทธิมนุษยชนทั้งมวล
………………………………………………..
ติดต่อ อังคณา นีละไพจิตร 084 728 0350
พุทธณี กางกั้น 086 332 1249