แถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาลเปิดเผยความจริงกรณีประชาชนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ
Category: News
จากการให้สัมภาษณ์นักข่าว อัลจาซีรา ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีต่อกรณีการเสียชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ชุมนุมหน้า สภ. ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่อ้างว่าสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนจำนวน 78 คนเป็นเพราะผู้ชุมนุมมีร่างการอ่อนแอ ขาดน้ำ ขาดอาหาร จึงเป็นเหตุให้ล้มทับกันจนเสียชีวิตนั้น คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพรู้สึกกังวลต่อการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากคำกล่าวของนายสมัคร สุนทรเวช คลาดเคลื่อนและขัดแย้งกับผลการสอบข้อเท็จจริงจากรายงานของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขัดแย้งกับรายงานพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ,คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาความมั่นคงในจังหวัดภาคใต้ ของวุฒิสภา และขัดแย้งกับข้อเท็จจริงจากประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์และเป็นผู้รอดชีวิต และผู้เห็นเหตุการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุมและควบคุมตัวการขนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธดังกล่าว รวมทั้งภาพจากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศที่นำเสนอต่อสาธารณชนย่อมเป็นประจักษ์พยานถึงเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างชัดเจน คำกล่าวของนายสมัคร สุนทรเวช ต่อสาเหตุการเสียชีวิตและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบรรดาผู้บริสุทธิ์โดยมิได้อยู่บนพื้นฐานของความจริง นอกจากจะถือว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและเป็นคำกล่าวที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อแล้ว ยังส่งผลเสียต่อการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และจะมาซึ่งความไม่ไว้วางใจของประชาชนผู้รักความเป็นธรรมต่างๆโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งจะทำลายบรรยากาศของความสมานฉันท์ที่รัฐบาลที่ผ่านมาได้พยายามสร้างขึ้นด้วย เนื่องจากเป็นการกล่าวในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย มิใช่นายสมัคร สุนทรเวช
ตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมาประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้ที่อยู่ร่วมในการชุมนุมประท้วงเองและกลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ได้พยายามแสวงหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเรียกร้องความยุติธรรม ผู้ชุมนุมและญาติได้ใช้สิทธิทางศาลฟ้องหน่วยงานของรัฐเป็นคดีแพ่งทั้งหมด 3 คดี เพื่อเรียกร้องให้รัฐรับชดใช้ค่าเสียหายต่อประชาชนที่เสียชีวิต บาดเจ็บ และพิการ โดยได้มีการประนีประนอมกัน โดยรัฐยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในคดีเป็นเงินจำนวนหนึ่งที่ได้จัดให้มีการรับเงินกันในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสไปแล้ว สำหรับคดีอาญาที่อัยการจังหวัดนราธิวาสเป็นโจทก์ฟ้องผู้ชุมนุม 58 คนนั้น ทางอัยการได้ทำการถอนฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดเมื่อปลายปี 2549 ไปแล้วเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าการดำเนินคดีต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและจะทำให้เกิดการแบ่งแยกแตกต่างกันมากขึ้น ปัจจุบันนี้ยังมีการดำเนินการอยู่ในชั้นศาลเป็นคดีไต่สวนการตายซึ่งจะพิจารณาว่าใครเป็นผู้เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวและขนย้ายของเจ้าหน้าที่ทหารในเย็นวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ศาลจะพิจารณาว่าสาเหตุการเสียชีวิตของชาวบ้านกว่า 78 คนนั้นเกิดได้อย่างไรและใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต
อย่างไรก็ดียังมีผู้เสียชีวิตที่ถูกยิงบริเวณหน้า สภ. ตากใบ อีก 6 ศพ และบาดเจ็บสาหัสไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 ศพนั้น จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมิได้มีการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด
คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ขอเรียกร้องนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ศึกษารายงานของคณะกรรมการอิสระและคณะกรรมาธิการชุดต่างๆและนำเอาภาพหรือรายงานข่าวเกี่ยวกับเหตการณ์มาศึกษาและ แสดงความรับผิดชอบต่อคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวซึ่งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งและความไม่เข้าใจในหมู่ประชาชนคนไทย และแสดงความจริงใจต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังนี้
1. ขอให้เร่งดำเนินการตามกรอบของกระบวนการยุติธรรมในคดีไต่ส่วนการตายที่ญาติผู้เสียชีวิตได้เข้าไปเป็นผู้ร้องในคดีด้วย คดีดังกล่าวซึ่งเป็นคดีสำคัญที่จะทำให้สังคมทราบตามหลักกระบวนการยุติธรรมว่าประชาชนจำนวน 78 คนนั้น เสียชีวิตด้วยเหตุใด และใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมากขณะขนย้ายผู้ชุมนุม เพื่อนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและลงโทษตามกฎหมาย และขอให้รีบดำเนินการสืบสวนสอบสวนและหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินการตามกฎหมายกรณีผู้เสียชีวิต 7 ศพ หน้า สภ. ตากใบ
2. รัฐบาลจะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด พร้อมทั้งผู้ที่จะต้องรับผิดชอบต่อการสูญเสียครั้งนี้ รวมทั้งปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคระกรรมการอิสระและกรรมาธิการชุดต่างๆที่สวบสวนกรณีนี้
3. รัฐต้องสนับสนุนส่งเสริมการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมด้วยสันติวิธีของประชาชน
4. รัฐบาลต้องยอมรับและเคารพการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระและการการชุมชุมอย่างสงบเปิดเผยโดยปราศจากอาวุธของประชาชน ตามที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกติกาสากลระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งการสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาของตนเอง
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมโดยเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะคดีการไต่สวนการตายและการเปิดเผยความจริง นอกจากเป็นที่สนใจของนานาชาติ และประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังเป็นปมเงื่อนสำคัญต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
++++++++++++++
ติดต่อ อังคณา นีละไพจิตร 084-728 0350
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ 086 709 3000
สุรีย์ กฤษณะกาฬ 083 7845440