แถลงการณ์ขอให้เคารพหลักนิติธรรมในการจับกุมและควบคุมตัวประชาชน
Category: News
จากกรณีการจับกุมและควบคุมตัวนักศึกษาในสถาบันราชภัฏยะลาและสถาบันพลศึกษาวิทยาเขตยะลาเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๑ จำนวน ๗ คน และต่อมามีการจับกุมเพิ่มในวันที่ ๒๘ มกราคม อีก ๒ คนนั้น คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้รับทราบเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการควบคุมตัวนักศึกษาทั้งหมดเป็นไปโดยการถูกซัดทอดจากผู้ที่ถูกจับกุมตัวก่อนหน้านี้ โดยที่นักศึกษาทั้งหมดยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดในการกระทำความผิดหรือการก่ออาชญากรรมแต่อย่างใด อีกทั้งนักศึกษาทั้ง ๙ คนนี้เป็นอาสาสมัครอบรมกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานในการให้ความรู้เกี่ยวกับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และหลักการสิทธิมนุษยชน โดยทำงานประสานกับคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ด้วยดีมาโดยตลอด
คณะทำงานฯ ยังได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้อยู่ในเหตุการณ์การควบคุมตัวว่า นักศึกษาบางคนถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ให้ความร่วมมือกับนักสิทธิมนุษยชน และพบว่าบางคนถูกซ้อมทรมานในขณะที่ถูกสอบสวน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงสร้างความสับสนและความหวาดระแวงให้แก่บรรดาญาติพี่น้อง และเยาวชนในสถานศึกษาต่างๆในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง
คณะทำงานฯ มีความกังวลต่อการควบคุมตัวประชาชนภายใต้กฎอัยการศึก และ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะแม้คำสั่งที่ ๑๑/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๐ ลงนามโดยผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค ๔ จะระบุสถานที่ที่ใช้ในการควบคุมตัวประชาชนไว้ชัดเจนว่า ให้ควบคุมตัวไว้ที่ศูนย์วิวัฒน์สันติ ค่ายอิงคยุทธบริหาร และศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค ๙ จังหวัดยะลา แต่ในทางปฏิบัติจริงผู้ถูกควบคุมตัวส่วนใหญ่มักถูกนำมาควบคุมตัวไว้ตามหน่วยเฉพาะกิจต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมิได้มีการแจ้งให้บรรดาญาติพี่น้องของผู้ถูกควบคุมตัวทราบแต่ประการใด อีกทั้งจากรายงานที่คณะทำงานฯ ได้รับคือผู้ถูกควบคุมตัวส่วนใหญ่มักถูกซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพในสามวันแรกที่ถูกควบคุมตัวและไม่ได้รับอนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยม ซึ่งป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม กฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้ระบุไว้ชัดเจนในมาตรา ๓๒ วรรค ๒ ว่า ” การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการอันโหดร้าย หรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้….” ในมาตรา ๓๙ วรรค ๒ ” ในคดีอาญา ต้องสัณนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” และในมาตรา ๔๐ (๔) ว่า ” ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ จำเลย คู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพยานในคดี มีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสิทธิในการได้รับการสอบสวนอย่งถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และการไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง”
คณะทำงานฯ เห็นว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจที่ ๑๑ ในการจับกุมและควบคุมตัวนักศึกษาดังกล่าวสวนทางกับนโยบายของ ผบ.ฉก ยะลา พลตรี วรรณทิพย์ ว่องไว ที่ได้ให้คำมั่นกับประชาชน ผู้นำศาสนา และองค์กรสิทธิมนุษยชนว่า จะยึดหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด และจะดำเนินการต่างๆ ด้วยความโปร่งใส ถูกต้อง และเป็นธรรม คณะทำงานฯ จึงขอเรียกร้องต่อผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังนี้
๑.ขอให้รัฐใช้หลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด ในการสอบสวน และควบคุมตัวประชาชน โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ในการควบคุมตัวดังกล่าวควรมีพยานหลักฐานที่ชัดเจน มีความโปร่งใส และผู้ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนควรมีความรู้ในวิชาชีพการสอบสวน ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และเรียกความเชื่อมั่นศรัทธาต่อภาครัฐให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด อีกทั้งขอให้รัฐบาลให้การสนับสนุนและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และจริงใจ โดยยึดถือหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด
๒.เพื่อมิให้เกิดความสงสัย และคลางแคลงใจในหมู่ประชาชนว่าจะมีการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัว จึงควรเปิดโอกาสให้ญาติได้เข้าเยี่ยมทันทีภายหลังการจับกุมและควบคุมตัว และระบุสถานที่ที่ถูกควบคุมตัวให้ถูกต้องชัดเจน
๓.เนื่องจากขณะนี้เป็นระยะเวลาใกล้สอบของสถาบันการศึกษาอุดมศึกษา จึงขอให้การสอบสวนนักศึกษาทั้ง ๙ คน เป็นไปโดยไม่ชักช้า เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของ ผู้ที่มิได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด
ทั้งนี้เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
*************************
ติดต่อ อังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ๐๘๔- ๗๒๘๐๓๕๐
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้ประสานงาน คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ๐๘๖- ๗๐๙๓๐๐๐